การถ่ายโอนภารกิจของกระทรวงมหาดไทยให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในปีงบประมาณ  2543  และ  2544

 

วัตถุประสงค์     1.    เพื่อศึกษาการดำเนินงานของหน่วยงานที่ถ่ายโอนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการรับการถ่ายโอนภารกิจจากกระทรวงมหาดไทย

                        2.    เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรค  ข้อจำกัดในการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                        3.    เพื่อเสนอแนวทางการถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระยะต่อไป

ข้อค้นพบ        1.    ด้านปัจจัยนำเข้า  บุคลากรของท้องถิ่นส่วนใหญ่ขาดประสบการณ์ด้านช่าง  การออกแบบรายละเอียดโครงการ  การกำหนดราคากลาง  ท้องถิ่นส่วนใหญ่ขาดเครื่องมือ  เครื่องจักรกล  โดยเฉพาะ  อบต. ชั้น 3 – 5 แนวทางปฏิบัติบางด้านไม่ชัดเจน

                   2.    ด้านกระบวนงาน  การดำเนินงานกลุ่มงานทาง  พบว่า  อบต.ส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการได้เองอย่างเบ็ดเสร็จ  และยังต้องพึ่งพาหน่วยงานถ่ายโอน  การดำเนินงานกลุ่มงานสะพาน พบว่า อบต. ยังต้องให้หน่วยงานถ่ายโอนดำเนินการในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมโครงการ  การสำรวจออกแบบ  การประมาณราคากลาง  การทดสอบวัสดุ  และการตรวจการจ้าง  การดำเนินงานกลุ่มงานน้ำ  (บ่อบาดาล  ระบบประปา  แหล่งน้ำมาตรฐาน  กข.)  พบว่า  อบต. ส่วนใหญ่ยังต้องให้หน่วยงานถ่ายโอนดำเนินการขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมโครงการ  การสำรวจออกแบบ  การทดสอบคุณภาพน้ำ  การควบคุมงาน  การตรวจการจ้าง การดำเนินงานกลุ่มงานพัฒนาคุณภาพชีวิต  พบว่า  หน่วยงานถ่ายโอนมีบทบาทขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ  การชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานไม่ชัดเจน

                        3.    ด้านผลการดำเนินงาน  ผลงานกลุ่มงานทางและกลุ่มงานสะพาน  เฉลี่ยร้อยละ  90  เป็นไปตามแผนที่วางไว้  ส่วนกลุ่มงานพัฒนาแหล่งน้ำเป็นไปตามแผนเพียงร้อยละ 60 ของปริมาณงานทั้งหมด

4.        ด้านปัญหาอุปสรรค  ภารกิจงานโครงการบางอย่างไม่สนองความต้องการที่แท้จริงของท้องถิ่น  บุคลากรด้านช่างของท้องถิ่นยังไม่มีโอกาสเรียนรู้จากส่วนราชการที่ถ่ายโอนโดยเฉพาะขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ  อบต. ส่วนใหญ่ขาดความพร้อมด้านบุคลากรทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ  ขาดเครื่องมืออุปกรณ์  เครื่องจักรกล  การกำหนดงบประมาณโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลไว้ในอัตราเดียวกันทั่วประเทศไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่  อบต. บางแห่งไม่ยินยอมให้ผู้แทนของส่วนราชการที่ถ่ายโอนเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง  โดยอ้างว่าปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล  .. 2538  แล้ว  บทบาทของกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบทและกรมโยธาธิการในการเข้าร่วมดำเนินการกับท้องถิ่นแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่เป็นงานประเภทเดียวกัน  ส่วนราชการที่ถ่ายโอนขาดการประสานงานเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติแก่ท้องถิ่นในคราวเดียวกัน  แม้นว่าเป็นภารกิจที่เหมือนกัน ทำให้ท้องถิ่นต้องไปรับฟังการชี้แจงหลายครั้งโดยไม่จำเป็น  ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงความเป็นมาของโครงการที่ถ่ายโอน

ข้อเสนอ            1.    การถ่ายโอนภารกิจให้แก่ท้องถิ่นควรคำนึงถึงศักยภาพของท้องถิ่นแต่ละระดับและห้วงเวลาที่เหมาะสม         

                        2.    สำนักงบประมาณควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ส่วนราชการเจ้าของงบประมาณหรือส่วนราชการที่ถ่ายโอนจะต้องเข้าร่วมดำเนินงานในขั้นตอนใดบ้าง  บทบาทแค่ไหน  ฐานะใด  และกำหนดกิจกรรมที่จะถ่ายโอนในปีต่อไปโดยเร็ว  พร้อมแจ้งส่วนราชการเจ้าของงบประมาณจัดทำแผนปฏิบัติงาน  เพื่อให้ท้องถิ่นมีเวลาจัดเตรียมการ  รวมทั้งควรพิจารณากำหนดเงินเพื่อซ่อมบำรุงทรัพย์สินที่ส่วนราชการต้องถ่ายโอน  เพื่อมิให้เป็นภาระให้แก่ท้องถิ่น

                        3.    กรมการเร่งรัดพัฒนาชนบทและกรมโยธาธิการควรร่วมกันพิจารณากำหนดแนวปฏิบัติว่า  ทั้งสองหน่วยงานควรเข้ามีส่วนในการดำเนินงานโครงการประเภทใด  ขั้นตอนใด   ฐานะใด

                        4.    ควรกำหนดมาตรฐานและเวลาปฏิบัติงานของขั้นตอนการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขออนุมัติโครงการการจัดซื้อจัดจ้างให้ชัดเจน                           

                        5.    ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนภารกิจให้แก่ท้องถิ่น  ควรให้ส่วนราชการที่ถ่ายโอนมีส่วนร่วมดำเนินงานกับท้องถิ่นในงานประเภทโครงสร้งพื้นฐานไประยะหนึ่ง

                        6.    ควรเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักแก่ประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจและมีส่วนร่วมตรวจสอบกระบวนการดำเนินกิจการสาธารณะของท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายโอน

                        7.    ควรกำหนดเป็นหลักการในแผนปฏิบัติการการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นว่า การ                                                พิจารณาอนุมัติงบประมาณโครงการถ่ายโอนต้องยึดตามแผนพัฒนาของท้องถิ่น

                        8.    ควรปรับแก้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.. 2538 ให้ประธานกรรมการบริหารและสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจในการสั่งซื้อสั่งจ้างสูงกว่าที่กำหนดไว้เดิม

                        9.    ควรเร่งการถ่ายโอนบุคลากรให้ท้องถิ่น

                        10.       ควรพิจารณาทบทวนปรับโครงสร้างของ อบต. ให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่  โดยเฉพาะกรอบอัตรากำลังของ อบต. ชั้น 3 – 5  ควรขยายเพิ่มให้สอดคล้องกับภารกิจ  แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตาม พ... ระเบียบงานบุคคลส่วนท้องถิ่น  .. 2542

ปีงบประมาณที่ดำเนินการ       2544

ผู้ศึกษาวิจัย                           นายประเสริฐ   แย้มสรวล

                                           นางสาวอุษา     ปัญญาวดี